หนังสือที่ระลึกประชุมใหญ่มูลนิธิฯ ปี ๒๕๖๔

                                                     มูลนิธิ                

                                                                             โดย  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

          คำว่า มูลนิธิ” ในภาษาไทยเป็นคำสืบเนื่องมาจากภาษาบาลีว่า นิธิ ซึ่งแปลว่า ขุมทรัพย์”  ในทางพระพุทธศาสนา   บางแห่งแบ่งนิธิหรือขุมทรัพย์นี้ไว้ ๔ ประเภท คือ

           ๑. ขุมทรัพย์ติดที่  หรือถาวรนิธิ  แต่เดิมหมายเอาทรัพย์สมบัติที่ฝังดินไว้ ตลอดถึงเรือกสวนไร่นาอันเป็นอสังหาริมทรัพย์  ในสมัยปัจจุบันคงต้องรวมเอาเงินที่ฝากไว้ในธนาคารเป็นต้นเข้าในความหมายนี้ด้วย          

           ๒. ขุมทรัพย์เคลื่อนที่  หรือสังคมนิธิ  ได้แก่  ข้าทาส บริวาร ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ

           ๓. ขุมทรัพย์คู่กาย  หรืออังคนิธิ  ได้แก่  ศิลปวิทยา  ความรู้สำหรับหาเลี้ยงชีวิต 

           ๔. ขุมทรัพย์ตามตัว  หรืออนุคามิกนิธิ  ได้แก่  บุญคือคุณธรรมที่ได้ฝึกอบรมให้มีในตน  แล้วฝากฝังไว้ในที่อันปลอดภัย  กล่าวคือ  ในพระศาสนา  เช่น  เจดีย์สถานและพระสงฆ์ในบุพการีชน  เช่น มารดา บิดา  ในประโยชน์ส่วนรวม  ในหมู่ญาติ  ตลอดจนบุคคลที่รู้จักเกี่ยวข้องและคนทั่วไป

          นิธิทั้ง ๔ นี้ แต่ละอย่างเป็นของสำคัญแก่ชีวิตมนุษย์และมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น  แต่ประโยชน์นั้นก็ดี  ความมั่นคงทนทานนั้นก็ดีหาเสมอกันไม่ 

          ขุมทรัพย์อย่างที่ ๑ นับเป็นส่วนอุปกรณ์เครื่องเลี้ยงชีพเป็นหลักประกันความปลอดภัยของอาชีพ  ให้ความอบอุ่นในยามปกติและสามารถนำออกใช้ในคราวจำเป็น  นับเป็นวิธีรักษาทรัพย์อย่างดียิ่ง  แต่กระนั้นก็อาจเกิดเหตุผิดพลาดต่างๆ  ให้หลุดมือไปหรือถูกริบถูกยึดไปได้และหากไม่นำไปใช้เพื่อตนและคนอื่นก็สำเร็จประโยชน์น้อย  ถึงคราวจากโลกนี้ไปก็ต้องทิ้งไว้  ไม่อาจนำไปกับตนได้  นับว่ามีประโยชน์จำกัด  ไม่มั่นคงแท้จริง  ยิ่งนำไปประกอบการอันชั่ว  เบียดเบียนตนและผู้อื่น  ก็กลับซ้ำกลายเป็นของร้าย นำมาซึ่งโทษภัย  ทางศาสนาไม่สรรเสริญ

          แม้ขุมทรัพย์ประเภทที่ ๒ ที่มีประโยชน์รับใช้สนองความประสงค์และช่วยการต่าง ๆ ให้สำเร็จโดยง่ายก็ยังไม่เชื่อว่ามั่นคงปลอดภัยจริง  เพราะมีเวลาล้มหายตายจากพรากกันไป  หรือเปลี่ยนมือเปลี่ยนใจเป็นอย่างอื่น

          ประเภทที่ ๓ คือ  ศิลปะวิทยาการต่าง ๆ นับว่าเป็นของมั่นคงและปลอดภัยกว่านิธิ ๒ อย่างแรก  เพราะมีต้นทุนอันมีติดอยู่กับตัว  ใครลักหรือแย่งชิงไปไม่ได้  สามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพทำการงานหาทรัพย์สมบัติเลี้ยงชีวิตได้  ใช้เท่าไรไม่รู้จักหมด  ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม  เป็นบ่อเกิดและทางมาแห่งขุมทรัพย์สองอย่างแรกตลอดไป  ทั้งสามารถนำไปบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือมนุษย์ได้เป็นอันมาก  แต่ก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์สมบูรณ์เพราะอาจเป็นเหตุให้ผู้ประพฤติแต่ทางเสียหาย  ไร้คุณธรรม  ไว้วางใจมิได้  วิชาความรู้นั้นก็อาจเป็นหมัน  มีเหมือนไม่มีหรือกลับกลายเป็นพิษให้โทษมากขึ้น

          ขุมทรัพย์อย่างที่ ๔ มีชื่อเรียกสั้น ๆ  อีกอย่างหนึ่งว่า มูลนิธิเป็นขุมทรัพย์ฝ่ายนามธรรมไม่มีรูปร่าง  มองไม่เห็น  มีอยู่ประจำตน  ใครลักหรือแย่งชิงไปไม่ได้  ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มคล้ายกับขุมทรัพย์อย่างที่ ๓  แต่มีคุณสมบัติอื่นเป็นพิเศษกว่าเป็นอันมาก  กล่าวคือติดตามให้ผลช่วยตนแม้ในชีวิตหน้า  ข้อที่สำคัญในชาตินี้อยู่ที่ว่านิธินี้ เป็นนิธิหลักเป็นทางมาเป็นทางเพิ่มพูน และเสริมประโยชน์แก่นิธิ ๓ อย่างแรก  ผู้ใดมีนิธิคือคุณธรรมในตนเอง  แล้วก็มีทางหาทรัพย์สมบัติที่เป็นนิธิอย่างที่ ๑ ได้  ถ้าเป็นผู้มีทรัพย์ก็รู้จักรักษาทรัพย์นั้นไว้ได้  ทำให้พอกพูนและใช้เป็นประโยชน์
ทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น
  แม้ถึงข้าทาสบริวารสัตว์เลี้ยงและศิลปวิทยาอันเป็นนิธิอย่างที่ ๒ และ ๓ ถ้าเป็นผู้มีนิธิคือคุณธรรมอยู่แล้วก็สามารถหามารักษาและใช้ให้เป็นประโยชน์โดยเต็มที่เช่นเดียวกัน

          บุญนิธิ  คือ คุณธรรมนั้น  มีมาก  เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร  แห่งขุททกนิกาย  ได้แก่  ธรรม ๔ ประการ คือ ทาน (การให้  สละและบริจาค) ศีล (ความประพฤติสุจริต) 
สัญญมะ  (การบังคับจิตใจควบคุมอารมณ์) ทมะ (การฝึกฝนอบรมตน)

          บุญก็เป็นทรัพย์อันแพร่หลายอยู่ทั่วทุกแห่งหน  และนิธิคือที่สำหรับทำบุญนั้นก็มีอยู่ทั่วไป  ผู้มีตาปัญญาย่อมมองเห็น  สามารถแสวงหาขุมทรัพย์แล้ว  ฝังไว้เป็นบุญนิธิได้ทุกที่และทุกเวลา  ผู้รู้จักมอง  ย่อมเห็นขุมทรัพย์ได้  แม้แต่ในคำว่ากล่าวชี้โทษผู้อื่น  อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในคาถาธรรมบท บัณฑิตวรรคว่า  พึงมองเห็นปราชญ์ผู้คอยชี้โทษชอบข่มว่าเหมือนเป็นผู้บอกทรัพย์และควรคบคนที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น  เมื่อคบคนอย่างนั้นย่อมมีแต่ดี  ไม่มีเสีย  คติอันพึงได้จากพุทธพจน์นี้  อยู่ที่ว่า  คำชี้โทษนั้นช่วยให้เรารู้และแก้ไขข้อบกพร่องของตน  ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น  เท่ากับได้พบและสร้างขุมทรัพย์ขึ้นอีก

          เมื่อเผื่อแผ่  บริจาคทาน  ประพฤติสุจริต  และบำเพ็ญประโยชน์แก่สถาบันใด ๆ ก็ดี  แก่กิจการส่วนรวมใด ๆ ก็ดี  หรือแม้แก่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดก็ดี  ย่อมได้ชื่อว่า  ฝังบุญนิธิไว้แล้วในที่
นั้น ๆ  ยิ่งผู้ฝังขุมทรัพย์นั้นเป็นคนมีปัญญา รู้จักคิด  รู้จักพิจารณา  ว่าฝังในที่ใดอย่างใดจึงจะสำเร็จประโยชน์มาก  ก็ยิ่งเป็นขุมทรัพย์ที่ดีมีคุณค่ามากขึ้น  ในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้ทำการทุกอย่างด้วยปัญญา เช่น เมื่อบริจาคทาน  ก็พึงให้ด้วยตระหนักแก่ใจของตนแล้วว่า การให้นั้น  จักช่วยให้บังเกิดประโยชน์แก่รู้รับไปมีผลดีงามแก่พระศาสนา  แก่สถาบัน   แก่ชุมชนนั้น ๆ อย่างไร  ตามอย่างพุทธภาษิต  ในสังยุตตนิกายสคาถวรรค  ที่ว่า  การให้ด้วยการพิจารณา  ทำให้สำเร็จประโยชน์  การพิจารณาแล้วจึงให้  เป็นทานอันพระสุคตทรงสรรเสริญ  และการพิจารณาแล้วให้นั้น  ก็จัดเป็นสับปุริสทานอย่างหนึ่งด้วย  ทานที่ท่านจัดว่าเลิศ  ว่าสูงสุดตามคติพุทธศาสนาได้แก่  สังฆทาน คือ การให้แก่สงฆ์  การให้แก่ส่วนรวม เพราะการให้แก่ส่วนรวมย่อมตัดและป้องกันความรู้สึกเศร้าหมอง  หรือขุ่นมัวในใจ  ที่อาจเกิดจากความเกี่ยวเกาะในตัวบุคคล
มิให้เกิดขึ้นได้
  และการให้แก่ส่วนรวมย่อมสำเร็จประโยชน์ได้แน่นอนกว่า  กว้างขวางกว่าโดยเฉพาะในเมื่อส่วนรวมนั้นมีระบบการจัดการมีระเบียบวิธีดำเนินงานที่รัดกุมเรียบร้อย  สังฆทานจึงเป็นการให้ด้วยความพินิจพิจารณาเป็น วิเจยฺย  ทานํ อยู่ในตัว

          พระพุทธองค์เคยตรัสเล่าเรื่องพราหมณ์ฤๅษีในปางก่อนว่า  ท่านเหล่านั้น  ประพฤติพรหมจรรย์มีความสำรวม  ได้รักษาขุมทรัพย์อันประเสริฐที่เรียกว่า  พรหมนิธิไว้  ได้แก่  ประพฤติมั่นในพรหมวิหารธรรมเป็นต้น  แม้จะไม่ได้แสวงหาทรัพย์สมบัติเงินทอง  ของใช้และสัตว์เลี้ยงต่างๆ เอง  แต่ก็เป็นผู้สมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินและพืชผล  ได้รับการทำนุบำรุงและความเคารพนอบน้อมจากประชาชนเป็นอย่างดี  นี้เป็นบุญนิธิอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงชั้นที่ที่มิใช่สัจธรรม  แต่ก็ยังมีประโยชน์มาก  ส่วนในพระพุทธศาสนา  ซึ่งมีคำสอนเป็นสัจธรรมสอนไว้ทุกระดับ  ถ้ามีปัญญารู้จักเลือกและนำมาประพฤติปฏิบัติ ย่อมสามารถให้ผลประโยชน์ตามความประสงค์ตั้งแต่ชั้นโลกียสมบัติ  อันได้แก่ความสมบูรณ์ด้วยกามคุณ ๕ ลาภ  ยศ  สุข สรรเสริญ  ในโลกมนุษย์และสวรรค์  ตลอดถึงนิพพานสมบัติและแม้พุทธภูมิ  ตามที่มีรับรองไว้ในนิธิกัณฑสูตรนั้น  ทั้งสามารถช่วยคนอื่น ๆ ให้ได้รับผลเช่นนั้นด้วย

          วิธีทำบุญในมูลนิธิ  อย่างที่มีผู้ศรัทธามากขึ้นในปัจจุบันนี้  นับว่าเป็นวิธีการอันสนับสนุนคติเรื่องนิธิที่กล่าวแล้ว  จัดเป็นการฝังขุมทรัพย์  ประเภทบุญนิธิอย่างสำคัญ  จะขอยกลักษณะอันดีของมูลนิธิมากล่าวไว้แต่บางประการ  เช่น

          ๑. มูลนิธิเป็นสถาบันส่วนรวม  ตั้งไว้เพื่อกิจอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมที่เรียกว่า  กุศลสาธารณประโยชน์  การให้แก่มูลนิธิจึงจัดเข้าในทางประเภทสังฆทาน ซึ่งเป็นทานที่มีผลมากที่สุด  เพราะทำให้ใจของผู้บริจาคปลอดโปร่งบริสุทธิ์  ให้กว้างขวาง    ไม่คับแคบ  ความหมายของทานที่ว่าให้หรือเสียสละอย่างแท้จริง  ยิ่งถ้าเป็นมูลนิธิของพระสงฆ์ในศาสนาด้วย  ก็ย่อมเป็นสังฆทานโดยสมบูรณ์ทั้งในรูปศัพท์และความหมาย

          ๒. มูลนิธิ  ย่อมมีวัตถุประสงค์อันเกี่ยวด้วยสาธารณประโยชน์ระบุไว้ชัดแจ้ง  อันผู้บริจาคกำหนดได้เองว่าเป็นประโยชน์แท้จริง  สมเหตุสมผลและตรงใจตน  สมควรบำรุงเพียงใดหรือไม่และมีระบบวิธีดำเนินงานรัดกุมเป็นระเบียบ  ควรแก่ความมั่นใจว่า จักจัดการให้สำเร็จสมตามวัตถุประสงค์ได้  การให้อย่างนี้จึงจัดว่าเป็น  วิเจยฺย  ทานํ  การให้ด้วยปัญญาอันเป็นที่สรรเสริญในทางศาสนา         

          ๓. การประพฤติธรรม  บำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ นี้  จัดเป็นขุมทรัพย์ที่สูงสุด คือ  บุญนิธิหรือ  อนุคามิกนิธิ  นิธิติดตามตน  ให้สำเร็จผลที่ปรารถนาทุกอย่าง  ตั้งแต่โลกิยสมบัติถึงนิพพานสมบัติ  การบริจาคทานแก่มูลนิธินั้น  จึงเป็นนิธิอยู่ในตัวเองแล้ว  คือเป็นบุญนิธิ

          ๔. วัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของมูลนิธิ  ซึ่งเป็นการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์  เช่น  บำรุงการศึกษาเล่าเรียน  สนับสนุนการฝึกอบรมศีลธรรม  รักษาวัฒนธรรม  และส่งเสริมการปฏิบัติธรรม เป็นต้น  แต่ละอย่างยิ่งเป็นขุมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งในขุมทรัพย์ ๔ ประเภทที่กล่าวแล้วอยู่ในตัว  ฉะนั้น  ถ้าบำรุงส่งเสริมมูลนิธิจึงเท่ากับได้สร้างและช่วยผู้อื่นสร้างขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ประเภทนั้นขึ้นอีกต่อหนึ่ง  เป็นการสร้างขุมทรัพย์ขึ้นทีเดียวหลายชั้น

          ๕. ผลดีอันใดที่เกิดจากการบำเพ็ญประโยชน์ของมูลนิธินั้น  ผู้บำรุงมูลนิธิย่อมชื่อว่ามีส่วนด้วย  ถ้ามีผู้ใดอาศัยมูลนิธินั้นได้รับการศึกษามีความรู้มีคุณธรรม  ประพฤติดีงามบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติ  ผู้บำรุงมูลนิธิก็ชื่อว่าได้มีส่วนสร้างบุคคลผู้นั้น  และมีส่วนบำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย  เมื่อพระสงฆ์ได้รับประโยชน์จากมูลนิธินั้นแล้ว  สามารถบำเพ็ญสมณธรรม  ปฏิบัติศาสนกิจดำรงสืบต่ออายุพระศาสนาไว้  ผู้บำรุงมูลนิธินั้นก็ชื่อว่าได้ร่วมดำรงและสืบต่ออายุพระศาสนาด้วย

          ๖. เมื่อมูลนิธินั้น  ไม่ใช้เงินต้นทุน นำเอาแต่ดอกผลไปบำเพ็ญประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และให้ผู้บริจาคตั้งทุนมูลนิธิมีชื่อตามที่ตนประสงค์ไว้ในมูลนิธิใหญ่นั้นได้ด้วย   มูลนิธินั้น  ย่อมเป็นการถาวรยั่งยืนนาน  ทุนมูลนิธิของผู้บริจาคนั้นจะคงอยู่ตลอดไป  ตราบเท่าที่มูลนิธินั้นยังดำรงอยู่  ฝากชื่อและความดีไว้เป็นอนุสรณ์  และเป็นเกียรติคุณแก่วงศ์ตระกูลชั่วกาลนาน  อีกประการหนึ่ง    เมื่อมูลนิธินั้นนำดอกผลออกมาทำบุญ  บำเพ็ญกุศลตามวัตถุประสงค์ครั้งใด  ผู้บริจาคนั้นชื่อว่าได้ทำบุญบำเพ็ญกุศลทุกคราวไปจะยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม  สิ้นชีวิตแล้วก็ตาม  ย่อมมีโอกาสทำบุญกุศลเรื่อยไปไม่รู้จักสิ้นสุด

          ในประเทศชาติใด ประชาชนเป็นผู้มีจิตใจเปี่ยมด้วยศรัทธา  ใฝ่ในการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ และประกอบด้วยปัญญา  รู้จักพิจารณาที่จะเป็นประโยชน์มีสายตากว้างไกล มองเห็นส่วนที่จะเป็นผลดี  และเกื้อกูลกว้างขวาง  คงอยู่ยาวนาน  เป็นผู้บำเพ็ญทานและกุศล
ทั้งปวงด้วยความพินิจพิจารณาเช่นนั้น
  ประเทศชาตินั้นย่อมมีแต่จะเจริญก้าวหน้า  แผ่ไพศาลและศาสนาก็จะรุ่งเรืองมั่นคง  ทั้งจักมีโอกาสเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายในถิ่นฐานอื่น ๆ ด้วย  ก็แลการที่จะให้เกิดผลทั้งนี้ได้  ย่อมต้องให้อาศัยสังฆทาน  และวิจัยทานเป็นต้น  

 

 

                                              ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลก

                                                                                                                                           โดย... นายสมบัติ ศีลสาร         

ข่าวศาสนาพุทธได้รับการคัดเลือกให้เป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลก มาจากเว็บไซด์ต่างประเทศ สามารถค้นคว้าได้จาก google ดูที่ INTERNATIONAL COALITION FOR ADVANCEMENT OF RELIGIOUS AND SPIRITUALITY หรือสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ                     

ข่าวนี้ สร้างความอือฮาสนใจแก่ชาวพุทธและคนทั่วไปอย่างมากผู้ติดตามและผู้แปล (สมบัติ
ศีลสาร) ได้ปลีกเวลาติดตามตามเว็บไซด์ต่างๆ
 มีมากกว่า ๑๐ เว็บลงแต่เรื่องนี้ทั้งในและต่างประเทศ จึงเปิดดูเพื่อหาความจริงหรือแสวงหาความรู้ และความเข้าใจของข่าวที่ปรากฏเพิ่มเติมต่อไป 

คุณ LINDA MOULIN (เป็นสตรีชาวแคนาคดา) เป็นผู้รายงานข่าว ศาสนาพุทธได้รับการคัดเลือกเป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลก ในหนังสือรายวันชื่อ TRIBUNE DE GENEVE เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๖.๕๕ น. คุณ LINDA ปัจจุบันนี้ทำงานอยู่กับบริษัทการเงินและหลักทรัพย์ ชื่อ AFFINITY CREDIY UNION ประเทศแคนนาดาเธอดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการอาวุโสด้านการพัฒนาองค์กร จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย SASKATCHEWAN ประเทศแคนนาดา มีประสบการณ์ด้านการเงิน การตลาด การประกันภัย และการสังคมสงเคราะห์ นอกจานี้เธอยังเป็นที่ปรึกษาและโค้ชการอนุเคราะห์เด็กเป็นบุตรบุญธรรมมาเป็นเวลานานกว่า ๒๒ ปี   

หนังสือพิมพ์รายวันชื่อ TRIBUNE DE GENEVE เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน สำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอรแลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  กุมภาพันธ์ ๑๘๗๙ ประมาณ ๑๓๐ ปี จำนวนตีพิมพ์วันละ ๖๗,๑๕๑ ฉบับ มีคนอ่านประมาณ ๑๗๕,๐๐๐ คน และสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ลงข่าวศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลกเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒          

คุณ HANS GROEHLICHEN ผู้อำนวยการองค์กรชื่อสมาพันธ์นานาชาติเพื่อความก้าวหน้าทางศาสนาและจิตวิญญาณ THE GENEVA – BASED INTERNATIONAL COALITION FOR ADVANCEMENT OF RELIGIOUS AND SPIRITUALITY ( ICARUS ) โดยมีคุณ JONNA HOLT เป็นผู้อำนวยการการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับงานของโครงการนี้ FREEDOM FROM RELIGION ซึ่งเป็นที่มาของศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ดีที่สุดในโลก คุณ HANS และคุณ JONNA ทำงานให้กับองค์กรนี้ อยู่ที่เมือง ALAMEDA รัฐ CALIFORNIA ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กร ICARUS นี้ (คุณสมบัติศีลสาร ได้ตรวจสอบติดตามจากเว็บไซด์) เป็นสถานบันที่ทำงานด้วยกันกับอีกองค์กรหนึ่งว่า INTERGRATIVE YOUTH DEVELOPMENT ( IYD ) เป็นสถาบันหรือองค์กรทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนและเยาวชน ก่อตั้งเมื่อ ๑๙๙๓ มีความชำนาญ  ส่วนหลักดังนี้        

 สร้างส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนในแต่ละคนอย่างเป็นรูปธรรม และ ประเมินผลได้ 

 ให้การดูแลและประสานความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน

 ให้การช่วยเหลือดูแลและประสานงานระหว่างโรงเรียนและชุมชน  

                                                                                       ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒

<span lang="TH" style="font-size: 24.0pt; font-family: 'TH SarabunPSK','sans-serif'; mso-fareast-

Visitors: 59,898